โรคหูอื้อ สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

หลายคนมีอาการของโรคหูอื้อ ซึ่งอาการหูอื้อนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากสาเหตุของพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการเจ็บป่วยของโรคบางอย่าง อาหาร รวมถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่ออาการหูอื้อแทบทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ

  • อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังมากจนเกินไป เช่น งานคอนเสิร์ต การก่อสร้างที่มีเสียงดังรบกวน เป็นต้น
  • หูชั้นกลางมีการติดเชื้อจากไข้หวัด
  • น้ำคั่งค้างอยู่ในหู
  • ความดันในหูมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ขณะที่ดำน้ำ ขณะอยุ่บนเครื่องบิน เป็นต้น
  • เกิดจากผลข้างเคียงของยาที่มีผลต่อระบบประสาทหู
  • เนื้องอกในช่องหู
  • ประสาทหูเสื่อมที่เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • มีขี้หูอุดตัน
  • มีการบาดเจ็บที่ศรีษะจนส่งผลกระทบต่อการได้ยิน
  • อาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหูอื้อได้
  • การสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ความเครียด
  • น้ำในหูไม่เท่ากัน
  • กล้ามเนื้อที่หูชั้นกลางมีอาการกระตุกที่ผิดปกติ
  • ภาวะโรคความดันโลหิตสูง
  • มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในหู

การรักษา

แพทย์จะรักษาอาการหูอื้อที่ต้นเหตุ โดยตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อให้ชัดเจนแล้วค่อยรักษา เช่น หูอื้อที่เกิดจากขี้หูอุดตัน แพทย์ก็จะเอาขี้หูออกหรือหยอดยาละลายขี้หู หากหูอื้อที่เกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาใหม่ที่ไม่มีผลข้างเคียงจนทำให้หูอื้อ

หากหูอื้อที่มีสาเหตุจากเนื้องอกในช่องหู ก็อาจจะต้องผ่าตัดเนื้องอกนั้นออก หากหูอื้อที่มีสาเหตุจากการเป็นหวัด โดยหูชั้นกลางมีการอักเสบและมีไซนัสอักเสบด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาปฏิชีวนะ หากหูอื้อที่มีสาเหตุจากสิ่งแปลกปลอมเข้าหู แพทย์ก็จะนำสิ่งแปลกปลอมนั้นออก

การป้องกันอาการหูอื้อ

  • ระมัดระวังไม่ให้หูโดนกระทบกระเทือน
  • หากต้องโดยสารเครื่องบิน ควรกลืนน้ำลายบ่อยๆ หรืออาจจะใช้วิธีเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อช่วยแก้อาการหูอื้อ
  • ระมัดระวังไม่ให้มีการติดเชื้อที่หู
  • ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น ยาควินิน ยาซาลิไซเลต แอสไพริน เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
  • ควรงดการสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินอาจไปขัดขวางการลำเลียงเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงประสาทหู
  • พยายามควบคุมโรคที่เป็นให้ดี โดยเฉพาะโรคไต ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคกรดยูริกในเลือดสูง เป็นต้น
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึกจนเกินไป
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหูอื้อนั้นสิ่งสำคัญเลยก็คือ การดูแลร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เมื่อร่างกายมีความแข็งแรงก็จะส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการหูอื้อได้