พระประจําวันเกิด มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

สำหรับพระพุทธรูปที่เราได้กราบไหว้บูชานั้นจะมีปางต่างๆ และมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดด้วย บทความนี้มีความรู้ในเรื่องพระประจําวันเกิดทั้ง 7 วัน พร้อมประวัติความเป็นมา

วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระเนตรเพ่งไปด้านหน้า พระหัตถ์ทั้งสองข้างประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา

  • ประวัติความเป็นมา หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ได้เสด็จประทับยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นระยะเวลา 7 วัน เป็นการระลึกถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ให้ร่มเงา

วันจันทร์ ปางห้ามญาติ

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ข้างขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ฝ่าพระหัตถ์ยื่นไปข้างหน้า

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธรูปปางห้ามญาติเกิดขึ้นจากการที่ญาติฝ่ายพุทธมารดา คือ กรุงเทวทหะ และญาติฝ่ายพุทธบิดา คือ กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งอาศัยกันอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี ได้มีการทะเลาะวิวาทเพื่อแย่งน้ำนำไปใช้ในการเพาะปลูก ถึงขั้นจะยกทัพเพื่อทำสงคราม พระพุทธเจ้าจึงไปห้ามทัพไม่ให้พระญาติฆ่าฟันกัน

วันอังคาร ปางไสยาสน์

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาทสองข้างซ้อนทับกัน พระหัตถ์ข้างขวาตั้งรับพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทาบตามพระวรกาย

  • ประวัติความเป็นมา สำหรับพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้นเกิดจากการที่พระพุทธองค์บรรทมแบบสีหไสยาสน์ระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง โดยมีความตั้งใจว่าจะปรินิพพาน พระพุทธรูปปางไสยาสน์จึงเป็นการรำลึกถึงพระพุทธองค์ที่ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน

วันพุธ กลางวัน ปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พะหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตรที่ราวสะเอว

  • ประวัติความเป็นมา เกิดจากการที่พระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปกลางอากาศต่อหน้าญาติ ทำให้ญาติลดทิฐิลง และได้มีการเทศนาแสดงธรรม แต่ญาติไม่ได้ถวายอาหารให้เพราะเข้าใจว่าพระพุทธองค์และพระสาวกจะฉันอาหารที่ได้เตรียมไว้ในวัง แต่พระพุทธองค์ก็พาพระสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ จึงทำให้ชาวกรุงกบิลพัสดุ์มีโอกาสเห็นพระพุทธองค์ทรงอุ้มบาตร

วันพุธ กลางคืน ปางป่าเลไลยก์

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับบนก้อนศิลา พระบาทสองข้างวางบนดอกบัว พระหัตถ์ข้างซ้ายวางคว่ำบนพระเพลา พระหัตถ์ข้างขวาวางหงายบนพระชานุ มีลิงถือรวงผึ้งเพื่อถวาย มีช้างหมอบและได้ใช้งวงจับกระบอกน้ำไว้

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองโกสัมพี พระภิกษุไม่มีความสามัคคีกัน ไม่อยู่ในพุทธโอวาส พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปจาริกที่ป่าปาลิไลยกะ โดยได้มีพญาช้างและพญาลิงที่เกิดความเลื่อมใส มาคอยพิทักษ์รักษา ต่อมาชาวบ้านได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ไม่พบ จึงได้ตำหนิพระภิกษุ ต่อมาพระภิกษุสำนึกผิด จึงได้ทูลเชิญให้พระพุทธองค์กลับมา

วันพฤหัสบดี ปางสมาธิ

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์สองข้างวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ข้างขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธรูปปางนี้เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าได้ประทับขัดสมาธิที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ และทรงตรัสรู้ ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

วันศุกร์ ปางรำพึง

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์สองข้างประสานกันยกขึ้นมาประทับที่พระอุระ พระหัตถ์ข้างขวาทับพระหัตถ์ข้างซ้าย

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธรูปปางนี้เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และคิดว่าธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นมีความลึกซึ้งเกินไปกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้ จึงคิดที่จะไม่แสดงธรรมแก่มนุษย์ ท้าวสหัมบดีพรหมได้รู้เรื่องนี้จึงได้มีการไปกราบทูลเพื่อให้พระองค์ได้มาแสดงธรรม

วันเสาร์ ปางนาคปรก

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบทประทับขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างหงายวางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ข้างขวาซ้อนทับพระหัตถ์ข้างซ้าย มีพญานาคขดร่างแผ่พังพานปกคลุมเหนือพระเศียร

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธรูปปางนี้เกิดจากการที่เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ แล้วได้นั่งสมาธิขณะนั้นได้มีฝนตกลงมา ได้มีพญานาคราชนามว่า มุจลินท์นาคราช แสดงอิทธิฤทธิ์โดยการขดร่างแผ่พังพานปกคลุมเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า เมื่อฝนหยุดตกจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพเพื่อเข้าเฝ้า

การกราบไหว้บูชาพระประจําวันเกิด ก็เพื่อให้มีสิริมงคลแก่ชีวิต เป็นการระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยให้จิตใจผ่องใส มีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น