สำหรับมือใหม่ที่กำลังใช้ รถเกียร์ออโต้ เชื่อว่าปัญหาหลัก ๆ ไม่รู้ว่าเกียร์แต่ละตำแหน่งนั้นต้องใช้อย่างไร ต้องใช้ในสถานการณ์ไหน ดังนั้นเราจึงนำฟังก์ชันเฉพาะขอเกียร์แต่ละตำแหน่ง มาทำความเข้าใจ และรู้จักไปพร้อม ๆ กัน
รถเกียร์ออโต้ เกียร์ P
เกียร์นี้รถต้องนิ่งก่อนจอด เมื่อจอดแล้วจะไม่เคลื่อนที่ หรือถูกเข็นได้ ดังนั้นก่อนใช้ต้องแน่ใจว่าบริเวณนั้นอนุญาตให้จอดรถได้ และไม่จอดขวางคันอื่น ในกรณีจอดในทางลาดชัน ให้ดึงเบรกมือเสริมไว้เพื่อความปลอดภัย
เกียร์ R
เป็นเกียร์ที่มีไว้ถอยหลัง หากไม่เหยียบคันเร่งรถจะถอยหลังได้เองอย่างช้า ๆ ซึ่งก็ไม่แนะนำให้เหยียบคันเร่ง เพราะจะทำให้รถถอยอย่างรวดเร็วจนเกิดอุบัติเหตุได้ และควรวางเท้าไว้ที่แป้นเบรกตลอดเวลา เพื่อที่จะได้เหยียบเบรกรถได้ทันทีหากต้องการหยุดรถ
เกียร์ N
เป็นเกียร์ว่างสำหรับจอดชั่วคราว เช่น ตอนติดไฟแดง ต้องจอดเพราะรถติด รวมไปถึงการจอดซ้อนคันในลานจอดรถเพราะสามารถเข็นได้ แต่อย่าลืมปลดเบรกมือด้วยล่ะไม่งั้นอาจถูกล็อกล้อได้
เกียร์ D
เป็นเกียร์เดินหน้ามีไว้สำหรับขับแบบปกติทั่วไป ขับยาว ๆ วิ่งทางราบ เมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่งนี้รถจะเริ่มออกตัวแล่นไปเองช้า ๆ เมื่อเหยียบคันเร่งเกียร์จะเปลี่ยนให้เองอัตโนมัติตามความเร็วของรถ
เกียร์ D3
เป็นเกียร์ที่ใช้ในกรณีต้องการเร่งเครื่องแซง เพราะเครื่องยนต์จะมีกำลังแรงขึ้น หรือสามารถใช้ขับในทางชันเล็กน้อย ขับขึ้นสะพาน
เกียร์ D2
เกียร์ D2 จะให้ก็ต่อเมื่อต้องขับรถขึ้นลงเนินที่ค่อนข้างสูงชัน เช่น ภูเขา รวมไปถึงทางคดเคี้ยว และขึ้นลงตามอาคารสูง ๆ ซึ่งสามารถใช้ความเร็วได้พอสมควร
เกียร์ L
จะใช้ในการขับขึ้นลงในเส้นทางที่สูงชันมาก ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วต่ำ โดยเฉพาะในตอนลงเขาเกียร์ยังช่วยให้เครื่องยนต์ช่วยเบรก เพื่อลดอัตราการเหยียบเบรกทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์ L กะทันหันขณะที่ขับเร็ว ๆ
รถเกียร์ออโต้ เกียร์ S หรือ B
เกียร์ S หรือ B จะพบได้ในรถรุ่นใหม่ ๆ เกียร์ S มีหน้าที่ช่วยให้เปลี่ยนอัตราทดเกียร์ช้าลง รถจะมีกำลังมากขึ้นหากต้องการแซง สำหรับเกียร์ B จะใช้ในกรณีขึ้นลงทางลาดชัน ลักษณะการทำงานคล้ายเกียร์ L
สำหรับมือใหม่เมื่อมาถึงตรงนี้คงคิดว่า รถเกียร์ออโต้ ใช้ยากต้องจำตำแหน่งเกียร์หลายอย่าง แต่หากใช้บ่อย ๆ พยายามเข้าใจความหมายของตัวอักษร รวมไปถึงการใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย